ผู้สูงอายุกับการตรวจร่างกาย

โรคที่อาจตรวจพบในผู้สูงอายุ เช่น ความดันโลหิตสูงจากการวัดความดันโลหิตที่ต้นแขน ซึ่งรวมถึงโรคที่ตรวจจากการซักประวัติ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมจนเกิดภาวะข้างเคียง ไม่สามารถที่จะออกไปพบปะสังคมกับผู้อื่น หกล้มบ่อยๆ ภาวะทุพโภชนาการ และมะเร็งเต้านม

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประกอบไปด้วยการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ โดยทั่วไปด้วยวิธีการเหล่านี้พบว่าสามารถตรวจพบโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ในผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนได้เพียง 2-3% การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจำเป็นต้องปฏิบัติคู่ไปกับการซักประวัติและการตรวจร่างกายจากแพทย์เสมอ โรคที่พบได้บ่อยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ภาวะโลหิตจาง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการตรวจเลือดในอุจจาระ) ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง ความผิดปกติของเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะผู้ที่ได้ยาขับปัสสาวะหรือยาแก้ปวดข้อ

การตรวจทางหู ภาวะหูหนวก หูตึง พบได้บ่อยมากถึงราว 25-35% ในผู้สูงอายุ และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุได้แก่ ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ หูชั้นนอกอุดกั้นจากขี้หูอุดกั้น ภาวะประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมากๆ ในอดีต

การตรวจทางตา ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนราว 10% จะมีโรคทางตาหรือความสามารถในการมองเห็นลดลงซ่อนเร้นอยู่ สาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม โดยเฉพาะในคนที่มีอายุมากๆ ภาวะสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ

ผู้สูงอายุที่มีต้อหิน ส่วนหนึ่งจะค่อยเป็นค่อยไป มักจะมาพบแพทย์ต่อเมื่อสายตามัวลงมากแล้ว จนไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ ถ้าสามารถได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก อาจป้องกันภาวะตาบอดได้ ส่วนอีก 3 โรคที่เหลือ อาจทำได้คร่าว ๆ โดยการวัดสายตา โดยให้ผู้สูงอายุอ่านภาพตัวอักษรที่ห่างออกไป 6 เมตร ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์ก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปพบจักษุแพทย์ต่อไป

นอกจากนี้มีการตรวจโรคผิวหนัง เหงือกและฟัน สุขภาพจิต การตรวจภายในเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และสุขภาพจิต ทุกคนได้รับการตรวจไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมๆ มีการซักประวัติและคัดกรองว่าควรตรวจอะไรบ้าง

(เครดิต : นิตยสารหมอชาวบ้าน เดือนสิงหาคม 2559)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *