6 วิธีดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

ปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุที่สังคมไทยต้องช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นภาวะที่พบมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากโครงสร้างประชากรของไทยในปัจจุบัน มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาโรคอัลไซเมอร์ แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมอย่างที่เรานึกไม่ถึงกันเลยทีเดียว ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นข่าวกันอยู่บ่อยๆ ที่ผู้สูงอายุออกไปนอกบ้านลำพัง หรือพลัดหลงกับบุตรหลานแล้วไม่สามารถตามตัวกลับบ้านได้ บางคนก็ถูกบุตรหลานทอดทิ้ง บางคนอาจประสบอุบัติเหตุหรือต้องกลายเป็นบุคคลคนเร่ร่อนไป ในปัจจุบันผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จำนวนมากถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ในอดีตเคยเป็นกำลังสำคัญในการเลี้ยงดูครอบครัว และทำงานสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติของเรา

โรคอัลไซเมอร์นั้น เป็นกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากความผิดปกติในด้านการทำงานของสมอง จะมีการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายด้านพร้อมๆ กัน แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นอย่างถาวร ส่งผลให้มีการเสื่อมของระบบความจำและการใช้ความคิดด้านต่างๆ ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหา หรือการควบคุมตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพ พฤติกรรม และส่งผลกระทบต่อการทำงาน รวมถึงการดำรงชีวิตประจำวัน ในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด และจะค่อยๆ แย่ลงจนถึงอาการสุดท้าย คือ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเสียชีวิตเพราะอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อาหาร สิ่งแวดล้อม สารพิษ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น

จากการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุไทย พบความชุกของโรคอัลไซเมอร์ ร้อยละ 1-2 ในกลุ่มประชากรอายุ 60-69 ปี และพบความชุกเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในทุกๆ ช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น 5 ปี สำหรับผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป โดยพบความชุกของโรคอัลไซเมอร์สูงที่สุดในกลุ่มประชากรที่มีอายุระหว่าง 70-80 ปี ประมาณร้อยละ12 ทั้งนี้มีการประมาณการว่าน่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยประมาณ 665,287 คน

สำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในขณะนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยยาต่างๆ ที่ใช้รักษาโรคนี้ ช่วยเพียงแค่ควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องมีผู้ดูแล ซึ่งถือได้ว่าผู้ดูแลมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทั้งนี้ผู้ดูแลจึงมีส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับยารักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ โดยการพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาการของผู้ป่วยแก่แพทย์ผู้รักษาอย่างดีที่สุด

แนวทางการดูแลผู้ป่วยสำหรับผู้ดูแล มีดังนี้
1.ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจและยอมรับกับภาวะสมองเสื่อมของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำ และการใช้ความคิดด้านต่างๆ ตลอดจนการสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือการควบคุมตนเองของผู้ป่วย จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพ พฤติกรรม ไปจนถึงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวันได้

2.ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการจำ เช่น การรับประทานอาหาร บางครั้งผู้ป่วยอาจจะจำไม่ได้ว่าตนเองรับประทานอาหารหรือยัง ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การขับถ่ายอย่างถูกสุขอนามัย การอาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้า รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้านเพื่อไม่ให้เกิดการพลัดหลงกัน

3.การใช้ยาและพาไปพบแพทย์ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์บางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิต-ประสาท เช่น ยาที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว ฯลฯ โดยผู้ดูแลควรช่วยในเรื่องการรับประทานยาให้สม่ำเสมอ และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัด ตลอดจนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยเพื่อแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาทราบได้อย่างถูกต้อง

4.สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ อุบัติเหตุ ดังนั้น ผู้ดูแลควรระมัดระวังและดูแลสถานที่ บ้านพักอาศัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย

5.การดูแลด้านจิตใจและอื่นๆ ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือด้านจิตใจของผู้ป่วยได้ โดยการให้กำลังใจ การให้รับประทานอาหารให้พอเพียงและถูกหลักโภชนาการ ดูแลเรื่องการออกกำลังกายตามความเหมาะสม รวมถึงการมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การพาออกนอกบ้านเพื่อทำกิจกรรมหรือการเข้ากลุ่มกับผู้สูงอายุด้วยกัน หากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นซึ่งความจำยังไม่บกพร่องมาก ควรหากิจกรรมฝึกความจำให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยชะลออาการของภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ได้

6.นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ตัวผู้ดูแลเองก็ควรจะดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ บางครั้งผู้ดูแลอาจรู้สึกผิด ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นนอกจากผู้ดูแลจะมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แล้ว ต้องดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วย

เนื่องจากผู้ดูแลมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้น มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ให้แก่ญาติผู้ป่วยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็นประจำทุกปี ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน โดยเชิญทีมวิทยากรที่หลากหลายจากหลายหน่วยงานมาให้ความรู้ พร้อมกิจกรรมต่างๆ มากมาย หากผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่ www.alz.or.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.02 644-5499 ต่อ 138

เครดิตข้อมูล : https://mgronline.com/qol/detail/9560000082502

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *