ร้านคุณตาคุณยาย ที่พักใจผู้เฒ่าคนจน

กิจกรรมขอรับบริจาคของเก่า นำมาจำหน่ายให้เช่า เอารายได้ไปทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นงานที่อรนุช เลิศกุลดิลก อายุ 53 ปี เจ้าของโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy ร้านคุณตาคุณยาย เลขที่ 53/1 ซอยรามอินทรา 58 แยก 3–13 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพฯ กำลังเดินหน้า

“ไม่ใช่โครงการธุรกิจหากำไร แต่เป็นงานที่ทำอย่างภาคภูมิใจและเป็นสุขใจ” พี่นุชว่า

ก่อนหน้าพี่นุชรับราชการอยู่การเคหะแห่งชาติคลองจั่น ฝ่ายปรับปรุงชุมชนแออัด มีโอกาสรับคัดเลือกให้ไปโครงการเยาวชน ในศตวรรษที่ 21 ดูงานพัฒนาสังคมเรื่องเด็กและผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุญี่ปุ่นมีความเป็นอยู่ดีมาก

ความประทับใจทำให้คิดว่าถ้ามีโอกาสจะทำงานพัฒนาผู้สูงอายุในประเทศไทย

พี่นุชมีประสบการณ์ ทำงานพัฒนาสังคม โครงการส่งเสริมการศึกษาเด็กจังหวัดเชียงราย เป็นงานพาร์ทไทม์กับเอ็คแพท ซึ่งเป็นองค์กรยุติปัญหาโสเภณีเด็กในโลกที่ 3 เป้าหมายงานส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ จึงเชื่อมโยงไปถึงงานดูแลผู้สูงอายุ

แนวคิดนี้ ทั้งพ่อแม่และน้องๆที่บ้านสนับสนุนเต็มที่

พ่อพี่นุชป่วยเป็นไตเรื้อรัง ต้องฟอกไตอาทิตย์ละ 3 วัน วันหนึ่งระหว่างการไปรับไปส่ง บอกพ่อว่าเดี๋ยว…วันไหนว่าง จะพาพ่อไปกินข้าวบางปู แต่พ่อเสียก่อนทำให้รู้สึกแย่มาก

พี่นุชทำงานหนักทุกวัน งานที่ทำคือดูแลคนนอกครอบครัว เมื่อพ่อเสีย จึงต้องทบทวนใหม่ ควรกลับมาดูแลคนในบ้าน ตัดสินใจลาออกจากราชการ ไปดูแลแม่ให้เต็มที่

เอาแนวคิดเดิม การเปิดเนิร์สเซอรี่ผู้สูงอายุ เพื่อหารายได้มาส่งเสริมการศึกษาเด็กที่กำพร้ายากจน ผลพลอยได้ คือหาเด็กมาเป็นเพื่อนแม่ และผู้สูงอายุด้วย

พี่นุชเขียนแผนชื่อ “บ้านพูนสุข” คำว่าพูนสุข คือคน 2 วัย มาเกื้อกูลความสุขกัน เด็กก็มีความสุข ผู้สูงอายุก็มีความสุข 2 วัยเจอกันทำให้มีความสุขมากขึ้น

แต่สิ่งที่พี่นุชต้องทำ คือไปหาความรู้ ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องผู้สูงอายุ มีแต่ความประทับใจที่ได้จากญี่ปุ่น และคิดว่าถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่จะกลับไปศึกษา ปัญหาสำคัญของโครงการ ก็คือเรื่องทุน

ขอทุนมูลนิธินิปปอน ว่าอยากไปเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องบริการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น ตอนสัมภาษณ์คณะกรรมการแนะนำให้ไปประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ไปสองประเทศนี้ 1 ปี กลับมาหารือวายเอ็มซีเอ แต่เขาถนัดเรื่องเด็กกับเยาวชน ไม่สนใจผู้สูงอายุ โครงการนี้จึงชะงัก

พี่นุชไปยุโรป ดูงานผู้สูงอายุกับเพื่อนๆอาสาสมัคร ระหว่างนี้ทางวายเอ็มซีเอชวนให้กลับมาทำงานเรื่องงานเด็กไปก่อน และให้ความหวัง อาจจะได้เริ่มต้นงานผู้สูงอายุด้วยกันในวันข้างหน้า

ทำเรื่องเด็กอยู่ 4 ปี พอมีกระแสเอสอี คือธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีโอกาสเริ่มงานผู้สูงอายุ ไปเสนอไอเดียกับ Unlimited Thailand ได้เงินมา 50,000 บาท แล้วก็มาจบที่ชื่อร้านคุณตาคุณยาย

เป็นอันว่า พี่นุชได้ทำสิ่งที่อยากทำ

โครงการร้านคุณตาคุณยาย เริ่มต้น พี่เพียงพร พนัสอำพน หัวหน้าที่การเคหะ ให้บ้านมาทำเป็นสำนักงานและร้าน เปิดรับบริจาคด้วยการบอกเพื่อนฝูงและญาติมิตร

“ลักษณะงานของพี่ เหมือนเป็นไปรษณีย์บุญ เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างคนให้และคนรับ”

ช่วงแรกของร้านคุณตาคุณยาย รายได้มีคนให้บ้าง มีเก็บบ้างเล็กๆน้อยๆ พอมาดูตัวเลขรับจ่าย คิดว่าไม่น่าอยู่รอด การรับของบริจาค มีค่าใช้จ่ายต้องเช่ารถไปรับ ต้องกลับมาทำความสะอาด เปลี่ยนอะไหล่ ตรงนี้เป็นต้นทุน ดังนั้นเราจึงเริ่มปรับให้เป็นธุรกิจมากขึ้น มีบริการ 3 อย่าง

1.ขายมือสอง 2.ให้เช่า และ 3.หาผู้อุปถัมภ์

ร้านคุณตาคุณยายทำไปเรื่อยๆ จนเริ่มไม่มีเงิน ต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินเก็บและเงินกู้ ในขณะที่ทุกวันพี่นุชต้องลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุ มีค่าเดินทาง ค่าใช้จ่าย ค่าจัดกิจกรรม ความจริงข้อนี้ จึงชี้ให้กิจกรรมร้านคุณตาคุณยายต้องหารายได้

“แต่เราไม่ได้รอว่าให้ได้กำไรสูงสุดแล้วไปทำ แต่เราทำมาตลอด เมื่อก่อนเราทำด้วยการระดมเงิน เราขอโครงการ แต่วันนี้เราไม่ได้ขอโครงการ เราใช้เงินที่มีอยู่ ไปเยี่ยมแต่ละครั้ง เราก็ซื้อของไปเยี่ยม หรือถ้าใครเอาขนมหรือสิ่งของมา เราก็เอาไปเยี่ยม ไปช่วยงานเล็กๆน้อยๆ ไปตัดเล็บ ไปจัดยา”

อีกเรื่องคืออาสาสมัคร เมื่อเยี่ยมแล้ว ถ้าพบว่าผู้สูงอายุคนไหนต้องการอุปกรณ์อะไร ก็จะแจ้งมา อย่างที่เราช่วยไป คือเรื่องเตียง รถเข็น ส่วนแพมเพิร์สสำคัญมาก ผู้สูงอายุใช้มาก บางรายซื้อได้วันละแผ่น

ช่วงแรกๆ ที่ใช้บ้านของพี่เพียงพร แต่พอเริ่มมีคนรู้จักให้เตียงเข้ามามาก จนไม่มีที่เก็บ จึงคิดขยับขยาย แม่กับน้องๆมาดูที่แปลงหนึ่ง รวบรวมเงินซื้อที่ทำเป็นศูนย์

เรื่องที่พี่นุชจำฝังใจ แม่พี่นุชจากไปในวันที่ซื้อที่ ถึงวันนี้ ศูนย์เพลินวัยทำได้มาปีกว่าแล้ว

“พี่เคยคิด ศูนย์นี้เมื่อมีเด็กมาอยู่ จะมีแม่อยู่ด้วย พี่จะได้ดูแลแม่และผู้สูงอายุคนอื่นไปพร้อมๆกัน แม่จะช่วยดูแลเด็กๆ ทำของเหมือนที่เคยทำให้เรา คิดแล้วใจหาย แม่จากไปเสียก่อน”

หลังแม่เสียพี่นุชหมดกำลังใจ อยากจะหยุดทุกอย่าง ที่ดินที่ซื้อไว้ก็ไม่ไปดู วันๆไม่ไปไหนอยู่แต่ในบ้าน อยู่กับความทรงจำ แต่สุดท้าย ก็คิดถึงผู้สูงอายุ พอไปเยี่ยมพูดคุย ก็เกิดกำลังใจจะต้องทำต่อ

“ทำไงได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของผู้เฒ่าผู้แก่ไปแล้ว”

เริ่มทำใหม่ น้องๆรวบรวมเงินกันก่อสร้างอาคาร เริ่มมีคนมาซื้อของมากขึ้น งานกลุ่มเติบโตขึ้น มีสมาชิกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกองทุนอุ่นใจ

กองทุนอุ่นใจเหมือนกองทุนฌาปนกิจ แต่ต่างจากคนอื่นเขาเก็บเป็นศพละ 100 บาท แต่ของเราจะให้บริจาคสมทบเดือนละ 20 บาท ไม่ว่าจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตหรือไม่

“ผู้สูงอายุเรายากจนที่สุดในกรุงเทพฯ เก็บขวดเก็บผักขาย เขาทำมาตลอดเวลา 5 ปี ตอนนี้มีสมาชิกจาก 5 ชุมชนเป็น 6 ชุมชน ในเขตสาทร สายไหมและคันนายาว มีสมาชิกกองทุนอุ่นใจอยู่กว่า 200 คน”

คุณสมบัติของสมาชิก ต้องเป็นคนที่อยู่ในชุมชน มาร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ ที่จริงเราอยากใช้เงิน 20 บาทนี้ เป็นเครื่องมือของการพบปะสังสรรค์มากกว่า

ปัจจุบันมีเงิน 230,000 บาท เป็นเงิน 20 บาท ที่เก็บจากผู้สูงอายุ 200 คนได้รวม 100,000 บาท เงินจำนวนนี้ มั่นใจได้ว่าพอที่จะดูแลผู้สูงอายุ เมื่อเสียชีวิต

“พูดภาษาบ้านๆ อยากให้ผู้สูงอายุแก่อย่างสง่างาม เจ็บอย่างสบาย และตายอย่างสงบ”

ห้าปีแล้วที่พี่นุชทำงานเรื่องผู้สูงอายุโดยตรง คิดว่าในวันข้างหน้า ถ้ากิจการคุณตาคุณยายมีคนสนับสนุนด้วยการมาบริจาค มาใช้บริการเยอะๆ จะได้ดูแลผู้สูงอายุได้กว้างขึ้น ตอนนี้เริ่มมีหลายๆชุมชนติดต่อเข้ามา อยากเป็นเครือข่าย

พี่นุชมีฝันอยากทำศูนย์กลางวันผู้สูงอายุ ก็เริ่มเห็นรางๆ ต้องขอขอบคุณ คุณลาริสา วีระไวทยะ สติลแมน บุตรสาวของคุณสุมาลี วีระไวทยะ ที่สนับสนุนการก่อสร้างอาคารกิจกรรมผู้สูงอายุ (ศูนย์เพลินวัย) เป็นที่พักใจของผู้สูงอายุ ถ้ารู้สึกไม่สบายใจก็อาจมานั่งเล่น

ถ้ามีเงินพอ ก็อาจจะทำขนมไว้สักหม้อ ข้าวสักมื้อให้แวะมากิน หาผู้รู้ มาให้ความรู้ครอบครัวผู้สูงอายุที่ต้องดูแลผู้สูงอายุนอนติดเตียง ให้อาหารทางสายยาง หรือการใช้เครื่องดูดเสมหะ

พี่นุชเริ่มเห็นศูนย์กลางวัน นี่คือฝันที่กำลังเป็นจริง

ถ้าศูนย์นี้มีผลกำไรเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะส่งต่อไปถึงข้างหลังบ้านคือการส่งเสริมการศึกษาเด็ก

ทุกสิ่งที่พี่นุชทำ เริ่มต้นจากคำ “เดี๋ยว” ที่พูดเสมอกับพ่อ “คุยกับเพื่อนๆอาสาสมัคร วันนี้เราจะไม่มีเดี๋ยวแล้ว เราจะให้ฟอร์โอวดี (โครงการเพื่อผู้สูงอายุ) ของเรา เป็นตัวกำจัดคำว่าเดี๋ยว”

อนาคตอันใกล้ พี่นุชตั้งใจให้ของขวัญกับสังคม เปิดบริการกำจัดเดี๋ยว เราจะไม่ให้ใครเดี๋ยวกับพ่อแม่ คือถ้านึกอยากจะทำก็ทำเลย.

 

เครดิตข้อมูล : http://www.thairath.co.th/content/550746

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *