แนะนำองค์กร
โครงการเพื่อผู้สูงอายุ – forOldy เกิดจากแรงบันดาลใจในการเห็นชีวิตความเป็นของผู้สูงอายุในครอบครัวของ Home stay ณ ประเทศญี่ปุ่น ในวาระที่ได้ร่วมเดินทางไปดูงานด้านพัฒนาสังคมโครงการเยาวชนมิตรภาพในศตวรรษที่ 21 ปี 2539 ประกอบกับความต้องการที่จะดูแลคุณแม่ หลังจากคุณพ่อเสียชีวิตโดยที่ไม่ได้ดูแลอย่างให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ เดือนสิงหาคม ปี 2545 จึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการมาเริ่มต้นงานเพื่อผู้สูงอายุและดูแลแม่อย่างใกล้ชิด
จากความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม “บ้านพูนสุข” บริการรับดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวันแล้วนำรายได้ส่งเสริมการศึกษาเด็กกำพร้า ยากจนหรือไร้ที่พึ่ง จึงได้เริ่มการเดินทางสู่ฝันโดยศึกษางานบ้านพักและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ศึกษางานด้านบริการสังคมของผู้สูงอายุในต่างประเทศ เนื่องจากการเริ่มต้นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจึงได้เริ่มจากการทำงานพัฒนาสังคมกับมูลนิธิ ไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ รับผิดชอบเรื่องการสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กในชุมชนเมืองที่มีรายได้น้อย
ปี 2553 เนื่องจากผู้ปกครองเด็กนักเรียนทุนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อปรึกษาหารือและช่วยเหลือกัน ในปีนี้ มูลนิธิ ไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ ได้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุจากมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ปกครองเด็กที่ได้รับทุนการศึกษาใน 2 ชุมชน และได้หยุดพักกิจกรรมนี้
ปี 2556 ได้รวมกลุ่มกัลยาณมิตรผู้สนใจเรื่องผู้สูงอายุนำเสนอโครงการและ ได้รับทุนริเริ่มจำนวน 50,000.-บาท จากโครงการ UnLtd Thailand ระยะที่ 2 เริ่มต้นร้านคุณตาคุณยาย พร้อมทั้งดำเนินโครงการเพื่อผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนและการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มคนอาสากลุ่มเล็กๆ ที่สนใจปัญหาของผู้สูงอายุในสังคมไทย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เป็นรูปธรรมในสังคมที่เอื้ออาทรภายใต้แนวคิด “สูงวัยอย่างสง่างาม เจ็บอย่างสบาย จากไปอย่างสงบ”
ปี 2558 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเป็นกิจกรรมหนึ่งของมูลนิธิช่วยไร้พรมแดนประเทศไทย
ปี 2560 โครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy ภายใต้มูลนิธิช่วยไร้พรมแดนประเทศไทย ได้รับเป็นสมาชิกองค์กรช่วยเหลือผู้สูงอายุสากล HelpAge International
ร้านคุณตาคุณยาย
อุปกรณ์การแพทย์หรืออุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญเมื่อเริ่มสูงวัย และสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ปัจจุบันสังคมไทยมีการยอมรับการใช้สิ่งของที่ใช้แล้ว (มือสอง) มากขึ้น ซึ่งทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้ทรัพยากรและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดให้มีพื้นที่ใน การแลกเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ของผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุและครอบครัวมีทางเลือก ประหยัดเวลาในการจัดหา และได้สิ่งของที่ต้องการใช้อย่างรวดเร็ว
รูปแบบ รับบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้สภาพ 80 % แล้วนำปรับปรุง ทำความสะอาดให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน นำมาให้บริการเช่าระยะสั้น/ระยะยาว จำหน่ายให้กับผู้สูงอายุรายได้น้อยและจัดหาผู้อุปถัมภ์ให้ในกรณียากไร้ นำรายได้ทั้งหมดมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนเมือง อาทิเช่น การส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้สูงอายุ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน กองทุนอุ่นใจ งานส่งเสริมรายได้ และศูนย์เพลินวัย เป็นต้น