👴ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ อาการต่างจากคนทั่วไป👵
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนทั่วโลก จนหลายคนอาจจะมองข้ามปัญหาไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ถือเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างฉับพลัน ที่เกิดจากเชื้อ Influenza virus ซึ่งพบการแพร่ระบาดมากกว่าปกติในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ความรุนแรงของโรคมักขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคนในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต เบาหวาน และโรคมะเร็ง หากพบการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดพบอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อไซนัส หรือหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ฉะนั้นการเฝ้าระวังและแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไวรัสชนิดอื่นๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลาย ทั้งนี้ อาการที่เรียกว่า “ไข้หวัดใหญ่” ในผู้สูงอายุสามารถสังเกตได้ คือ ภาวะซึม ทานข้าวไม่ได้ สับสน เพิ่มเติมจากอาการไข้หวัดใหญ่ปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ไอแห้ง เจ็บคอ และมีน้ำมูก อีกทั้งอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมักมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ และอาจพบอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้หากดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าเริ่มมีอาการไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยนำตัวอย่างของเหลวจากจมูกหรือลำคอของคนไข้ไปตรวจหาชนิดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และรักษาโดยเร่งด่วนในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว การปล่อยให้เชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน อีกทั้งเพิ่มระดับความรุนแรงของโรคให้มากขึ้น
สำหรับวิธีการรักษาไข้หวัดใหญ่ที่ได้ผล คนไข้ควรได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการไข้ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค นอกเหนือจากนั้นจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ทานยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เพราะในแต่ละปีเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลง และพบการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดเชื้อตัวใหม่ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในแต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในช่วงเวลานั้น โดยหลักแล้วจะครอบคลุม 3 สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่พบ
คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรค นอกจากนี้วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและโอกาสในการเกิดโรคแทรกช้อนหากเป็น ขณะเดียวกัน คนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี แต่มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ กลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปีเช่นกัน รวมไปถึงผู้ที่ดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากอาการบวมแดงเล็กน้อยในบริเวณที่ฉีด ส่วนอาการไข้หลังฉีดวัคซีนที่หลายคนกังวลนั้น พบได้ “น้อยมาก” เนื่องจากวัคซีนช่วยในเรื่องการป้องกัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ 100% ในกรณีที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใกล้เคียง แต่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคไม่ให้เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาได้.
ที่มา : ไทยโพสต์