ผู้สูงอายุที่ตายตามลำพังในประเทศไทย
เป็นภาพที่น่าเศร้าและสะเทือนใจเมื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ตามลำพังซึ่งกว่าจะมีคนมาพบศพก็อืดเน่าให้หนอนกินไปแล้ว เรื่องผู้สูงอายุเสียชีวิตตามลำพังนี้มีมานานแล้วในประเทศญี่ปุ่นเพราะเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดมีผู้สูงอายุจำนวนมากเกือบร้อยละ 30 ของประชากรของญี่ปุ่น หรือราว 35 ล้านคน และมีผู้ที่อยู่ตามลำพังจำนวนมากราว 18 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัย 50 ปีเศษ และผู้หญิงวัย 80 ปีขึ้นไป) สถานการณ์ที่มีผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โคโดคุชิ (Kodokushi) หรือ Die alone หรือตายตามลำพัง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตตามลำพังไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคนในแต่ละปี ในขณะที่บริษัทสัปเหร่อบอกว่าน่าจะมากกว่านั้นถึง 2-3 เท่า
สถานการณ์ที่ค่อนข้างเลวร้ายของญี่ปุ่นเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 เมื่อมีผู้พบศพของชายชราอายุ 69 ปี หลังจากที่เขาตายได้ราว 3 ปี โดยที่ยังมีการจ่ายค่าเช่าบ้านและค่าน้ำค่าไฟตามปกติตลอดมาโดยการหักผ่านธนาคารโดยอัตโนมัติ จนกระทั่งเงินฝากเกลี้ยงบัญชีจึงมีผู้พบโครงกระดูกของเขาที่บ้านของเขาโดยมีหนอนชอนไชและแมลงวันตอมอยู่
ผู้เสียชีวิตตามลำพังจะมีจำนวนเท่าใดไม่ค่อยมีตัวเลขที่สมบูรณ์และถูกต้อง กรมประชาสัมพันธ์ของญี่ปุ่นรายงานว่ามีผู้สูงอายุที่ตายตามลำพัง 32,000 คนในปี 2552 เฉพาะในกรุงโตเกียวมีผู้สูงอายุตายตามลำพัง 2,200 คน ในปี 2551 เท่ากับจำนวนที่เกิดขึ้นในปี 2554 บริษัทรับจ้างขนย้ายแห่งหนึ่งในโอซาการายงานว่า ร้อยละ 20 ของงานขนย้ายของบริษัทตน (300 ครั้งต่อปี) เป็นการขนย้ายข้าวของของผู้ที่ตายตามลำพัง ในขณะที่พบว่าร้อยละ 5 ของงานศพในปี 2549 เป็นศพผู้ตายตามลำพัง
ในเกาหลีใต้ก็มี kodokushi เหมือนกัน แต่เรียกเป็นภาษาเกาหลีว่า โกด็อกซา (Godoksa) เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์แล้วโดยมีผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปี ขึ้นไป) ร้อยละ 13 ของประชากร (50.5 ล้านคน) และมีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังเป็นจำนวนมาก การสำรวจสำมะโนประชากรของเกาหลีใต้ในปี 2559 พบว่ามีครัวเรือนที่อยู่ตามลำพังประมาณ 7.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 35 ของครัวเรือนทั้งหมด 21 ล้านครัวเรือน
เกาหลีใต้มีครัวเรือนผู้สูงอายุ (อายุ 65 ขึ้นไป) ที่อยู่คนเดียวมีจำนวน 1.2 ล้านครัวเรือนจากจำนวนครัวเรือนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 3.7 ล้านครัวเรือน ทำให้เกาหลีใต้มีปัญหาการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุ และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นประการหนึ่ง คือ โกด็อกซา
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ดาราดังของเกาหลีชื่อ ลี มิ จิ นอนตายในอพาร์ตเมนต์ของเธอและมีผู้พบศพหลังจากเธอตายประมาณ 2 สัปดาห์ การตายตามลำพังเช่นนี้ปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นในเกาหลีใต้ จำนวนผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ที่ตายตามลำพังมีเท่าใดไม่มีสถิติที่ชัดเจน ในปี 2559 มูลนิธิโซลเวลแฟร์ได้ศึกษาจำนวนผู้สูงอายุที่ตายตามลำพังโดยการวิเคราะห์บันทึกของทางการตำรวจและพบว่า ในปี 2556 มีผู้สูงอายุตายตามลำพังในกรุงโซลที่ยืนยันได้ 162 ราย และที่ไม่แน่ใจ (ว่าตายอยู่ตามลำพัง) อีกกว่า 2 พันราย
ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้วและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีแนวโน้มการอยู่ตามลำพังสูงขึ้น อีกประเทศหนึ่งในเอเชียที่เริ่มมีปัญหาผู้สูงอายุตายตามลำพังคือสิงคโปร์ ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ The New Paper ลงข่าวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ว่า “ผู้สูงอายุในสิงคโปร์มีการตายตามลำพังเพิ่มขึ้น” ตามด้วยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2559 หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์ลงข่าวพาดหัวว่า “ผู้สูงอายุกลัวการตายตามลำพังมากขึ้น” ตามด้วยฉบับวันที่ 13 เมษายน มีข่าวพาดหัวว่า “วิธีที่จะไม่ตายตามลำพัง” และ ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2559 ลงข่าว “การตายอย่างโดดเดี่ยวของนายซ้อ อา เซ็ง”
สิงคโปร์มีครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง น่าจะเป็น นางวาสินี เหโมภาส อายุ 71 ปี ซึ่งเป็น ผู้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวเพียงลำพัง เชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตจากอาการป่วยในโรคชรา แต่ไม่มีผู้ใดทราบ สภาพศพจึงถูกทิ้งให้เน่าและแห้งไปตามกาลเวลา
ถ้าอยากรู้สถิติมากกว่านี้ก็คงต้องไปถามตำรวจ กู้ภัยป่อเต็กตึ๊ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรมกิจการผู้สูงอายุ หรือเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพทั่วประเทศ ซึ่งคงทำได้ยากและใช้ต้นทุนสูง แต่ผู้เขียนจะลองใช้วิธีคำนวณแบบง่ายๆ จากข้อมูลที่มีอยู่คือ หาจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังและอัตราการตายของผู้สูงอายุ และข้อสมมุติว่า Home Alone, Die Alone ของผู้เขียน น่าจะแก้ขัดได้
จากผลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง (ปี 2557) จำนวน 8.8 แสนคน เป็นชาย 3.2 แสนคน และหญิง 5.6 แสนคน เมื่อวิเคราะห์โดยใช้อัตราตายรายอายุและเพศในปีเดียวกันซึ่งมีอาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาไว้ พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะตายตามลำพัง 4.7 หมื่นคนต่อปี เป็นชาย 19,700 คน และหญิง 27,600 คน (รายละเอียดอยู่ในตาราง) ตัวเลข 4.7 หมื่นนี้ถือว่าเป็นประมาณการขั้นต่ำเพราะผู้เขียนใช้อัตราตายของผู้สูงอายุโดยทั่วไปในขณะที่มีงานวิจัยพบว่าอัตราตายของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังจะสูงกว่าปกติเนื่องจากการอยู่ตามลำพังอาจมีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น การถูกทอดทิ้ง การขาดการติดต่อจากโลกภายนอก ตลอดจนความกดดันทางอารมณ์ ฯลฯ
ผู้เขียนเข้าใจว่าทางราชการมีหน่วยงานและบุคลากรที่คอยดูแลผู้สูงอายุอยู่ โดยเฉพาะ รพ.สต.บางแห่ง และ อสม. มีการเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุถึงบ้านอยู่บ้างแล้ว แต่ขอให้กำลังใจให้ช่วยกันดูแลให้ทั่วถึงก็แล้วกัน เพราะในสภาวะสังคมสูงวัยจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังและตายตามลำพังมากขึ้นทุกที
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2560 ในมติชน คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: ผู้สูงอายุที่ตายตามลำพังในประเทศไทย
ที่มา :
(https://tdri.or.th/2017/12/ageing-pass-away)