forOldy อาสาสร้างสุข ‘ผู้สูงวัย’

forOldy  อาสาสร้างสุข \'ผู้สูงวัย\' thaihealth

ร้านคุณตายคุณยาย และศูนย์เพลินวัย เลขที่ 53/1 ในซอยรามอินทรา 58 แยก 3-13 ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของพื้นที่แบ่งปันความสุขให้กับผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ผ่านโครงการเพื่อ ผู้สูงอายุ forOldy กิจการเพื่อสังคมที่ริเริ่มโดย อรนุช เลิศกุลดิลก ด้วยแรงบันดาลใจที่อยากให้ผู้สูงอายุเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี 

บทเรียนจากการทุ่มเททำงานหนัก นอกบ้าน จนละเลยคนสำคัญที่สุดในชีวิต เมื่อต้องสูญเสีย “พ่อ”กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้อรนุช ตัดสินใจลาออกจากงานที่การเคหะฯ เพื่อมาดูแลแม่ และเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลผู้สูงชีวิตอีกหลายชีวิตในสังคมจนถึงปัจจุบัน

forOldy  อาสาสร้างสุข \'ผู้สูงวัย\' thaihealth

“ก่อนหน้านี้ เคยได้ไปดูงาน ที่ญี่ปุ่น เห็นผู้สูงอายุที่นั่นมีความสุข  เป็นแรงบันดาลใจว่าทำยังไงผู้สูงอายุ เมืองไทยถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างนี้บ้าง คิดว่าถ้ามีโอกาสเราอยากทำงานด้านนี้  พอพ่อเสียทำให้รู้สึกว่า เราคิดนานไป หรือเปล่าไม่รู้ จากที่เคยบอกว่าจะ..จะ..จะทำมาตลอด ถึงเวลาที่ต้องเริ่มทำสักที” อรนุช เล่าถึงจุดเริ่มของการได้ทำงานเพื่อสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างที่ตั้งใจไว้ ควบคู่กับการได้ดูแลแม่ไปด้วยพร้อมๆ กัน

บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุมักปฏิเสธการออกนอกบ้าน ไปไหนมาไหนกับครอบครัว เพราะเดินเหินไม่สะดวก เช่น ประสบการณ์ตรงที่เจอมากับตัวเองว่า แม่ไปทุกที่กับเธอ แต่ขอนั่งเฝ้าอยู่ในรถ เป็นแรงบันดาลใจที่นำมาสู่ การเปิดร้านคุณตาคุณยาย รับบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุจากผู้ที่เลิกใช้แล้ว เพื่อส่งต่อโอกาสให้ผู้สูงอายุคนได้มีโอกาสใช้งานต่อไปในราคาย่อมเยา เช่น บริการให้เช่ารถเข็นระยะสั้น รายวัน เพื่อส่งเสริมให้คุณตาคุณยายได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับครอบครัวในครอบครัว สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติแม้จะมีอุปสรรคในการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ยังมีบริการอุปกรณ์เครื่องใช้ สำหรับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย เช่น เตียงนอน  เครื่องผลิตออกซิเจน ทั้งในรูปแบบจำหน่ายให้เช่า ระยะสั้น-ยาว หรือจัดหาผู้อุปถัมภ์ให้กรณีผู้สูงอายุที่ยากจน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ และเพื่อให้อุปกรณ์เครื่องใช้ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

“เดิมแนวคิดแรกเขียนแผนไว้ว่า อยากทำบ้านพูนสุข เปิดเนอสเซอรี่ผู้สูงอายุ เพื่อหารายได้มาส่งเสริมการศึกษา เด็กด้อยโอกาส และทำให้คนสองวัยได้มาเกื้อกูลความสุขกัน แต่การเปิดเนอสเซอรี่ ต้องใช้ทุนเยอะ จึงเริ่มต้นจากเปิดร้านคุณตาคุณยายให้บริการด้านอุปกรณ์ก่อน ประกอบกับการที่เราทำงานกับผู้สูงอายุ ในชุมชนทำให้เห็นถึงความต้องการเหล่านี้”

จนกระทั่งมาสบจังหวะที่กระแสกิจการเพื่อสังคม หรือ Sosial Enterprise (SE) เริ่มแพร่หลายในเมืองไทย จึงเป็นโอกาสให้อรนุชได้ pitching นำเสนอไอเดียเพื่อสังคมกับโครงการ Unlimited Thailand ของ Change Fusion กิจการเพื่อสังคมของ  forOldy จึงเริ่มจากทุนตั้งต้น 5 หมื่นบาท โดยมีอดีตหัวหน้า เพียงพร พนัสอำพน  เอื้อเฟื้อทาวน์เฮ้าส์หนึ่งหลังให้มาทำเป็นสำนักงานและร้านคุณตาคุณยาย

forOldy  อาสาสร้างสุข \'ผู้สูงวัย\' thaihealth

“ตอนนั้น มันถือว่ายิ่งใหญ่มากเลยนะ สำหรับคนไม่มีตังค์อย่างพี่” อรนุช เอ่ยถึงความรู้สึกก้าวแรกที่ได้ทุนมาตั้งต้น forOldy ในปี 2556 เพื่อมาสานต่องานด้านพัฒนาสังคมที่ได้ริเริ่มมาก่อนหน้านี้ ในรูปแบบ จิตอาสาส่วนตัว โดยต่อยอดมากจากงานเพื่อสังคมที่เคยทำด้านเด็ก เข้าไปชักชวนให้ผู้สูงอายุในชุมชนเมืองรวมกลุ่มช่วยเหลือดูแลกันและกัน โดยมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านใน 6 ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเปราะบาง มีตั้งแต่ผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว พิการ  ป่วยติดเตียง และป่วยระยะสุดท้าย  นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนอุ่นใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการจากไป

“กองทุนอุ่นใจเป็นเหมือนกองทุนฌาปนกิจ แต่เราไม่ได้เก็บเงินรายศพ แต่คิดรูปแบบของกองทุนที่ทำให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าร่วมกองทุนได้อย่างมีความสุข  ไม่เดือดร้อน โดยบริจาคเพียงเดือนละ 20 บาท  ไม่ว่าจะมีใครไปสวรรค์หรือไม่ไปสวรรค์  บวกกับเงินทุนตั้งต้นอีก 1.3 แสนบาทที่ระดมทุนกันเองจากการทอดผ้าป่าที่มีคุณแม่และครอบครัวเป็นประธาน” เธอเล่า และบอกว่า กองทุนอุ่นใจเริ่มต้นจาก  2 ชุมชนแรก คือ ชุมชนหน้าธรรมศาสตร์ ซอยสวนพลู งามดูพลี เขตสาทร และชุมชนพูนทรัพย์เขตสายไหม จนปัจจุบันขยายเป็น 6 ชุมชน มีสมาชิกรวมกัน 245 คน มีเงินในกองทุน 2.6 แสนบาท โดยมีการ

ช่วยเหลือเงินเมื่อสมาชิกเสียชีวิตแบบตามขั้นบันไดตั้งแต่ 1 พันไปจนถึง 9 พันบาท  นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุช่วงแรกที่ทำในรูปแบบ จิตอาสาส่วนตัว โดยมีครอบครัวและบรรดากัลยาณมิตรเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุน ที่สำคัญ

“เราเริ่มต้นจากไม่มีทุน แต่ทำงานด้วยศรัทธาที่เรามี เพราะเราเห็นความสำคัญ ของการรวมพลังกันเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต  ให้กับผู้สูงอายุ” อรนุช เล่าถึงภาพที่ทำให้เห็นพลังของผู้สูงอายุในประเด็นต่างๆ เช่น  การณรงค์ขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ

forOldy  อาสาสร้างสุข \'ผู้สูงวัย\' thaihealth

การก้าวมาสู่ forOldy ในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม จึงเป็นโมเดลใหม่ที่เข้ามาจุดประกายฝัน นอกเหนือจากการเขียนโครงการ เพื่อขอรับทุนสนับสนุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งอรนุช บอกว่า การได้มีโอกาสเติมเต็มความรู้ผ่านหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า โมเดลที่คิดไว้เดินมาถูกทาง และตรงกับความคิดที่ตั้งใจว่า อยากทำธุรกิจเพื่อนำรายได้กลับมาช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น

“เมื่อก่อน ถ้าพูดถึงคำว่าธุรกิจปุ๊บ คนที่ทำงานในวงการเอ็นจีโอ อาจจะรู้สึกว่าธุรกิจเป็นเรื่องไม่ดี ทำไม่ได้ แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ถึงเวลาที่เราต้องหาเงินเพื่อทำงานเอง เพราะลักษณะเทรนด์ของทุนที่สนับสนุนจะลดลงไปเรื่อยๆ และไหลไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่ลำบากกว่าเรา”  จากที่เคยทำงานอยู่เบื้องหลังมานาน ชื่อของ ForOldy เริ่มเปิดตัวเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมในงานเปิดโลก อาสาของธนาคารจิตอาสา ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในการทำงานด้าน จิตอาสาและผู้สูงอายุ รวมถึงชื่อของร้าน คุณตาคุณยายที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

forOldy จะรับบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุจากผู้ที่เลิกใช้แล้ว นำมา ทำความสะอาดจนใหม่เอี่ยม ปรับปรุงให้พร้อมใช้งาน บริการออกไปทั้งในรูปแบบ ให้เช่า ระยะสั้น-ระยะยาว จำหน่ายมือสองในราคาย่อมเยา รวมถึงหาผู้อุปถัมภ์ให้  ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงาน จะนำมาให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยใน 6 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ในราคาถูก ตั้งแต่  20 บาท ไปจนถึงสูงสุดคือราคา 500 บาท  “หากเกิน 500 บาท เราจะทำระบบ สปอนเซอร์ หาผู้อุปถัมภ์ให้สำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน ผ่านระบบอาสาสมัครชุมชนในพื้นที่เป็นผู้แจ้งประสานความต้องการมา โดยเราจะลงพื้นที่ไปเยี่ยม และพิจารณาตามความเหมาะสม เคยมีเคสคุณตาคนหนึ่งป่วย เดินไม่ได้ ออกจากโรงพยาบาลมาต้องนอนกับพื้น เราถามว่า คุณตาอยากได้เตียงมั้ย เราเก็บเพียงแค่ 500 บาท จะจ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ ให้ใช้ไปจนกว่าจะเลิกใช้ ผ่านไปปีกว่า คุณตาอาการดีขึ้น เอาเตียงมาคืน ขอเปลี่ยนเป็นรถเข็นแทน เราจึงเขียนบอกเล่าเรื่องราว คุณตา จนได้ผู้ใจดีช่วยอุปถัมภ์รถเข็นให้คุณตาในราคา 1,500 บาท ต่อมาคุณตาเริ่มออกจากบ้านได้ เปลี่ยนจากรถเข็นเป็นไม้เท้า คราวนี้คุณตาซื้อไม้เท้าเอง จ่ายราคาพิเศษ 20 บาท แล้วเราก็ไปรับรถเข็นกลับมา”  ผู้จัดการ ForOldy เล่าถึงความรู้สึกดีๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งให้คุณตากลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง ผ่านโครงการซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ การแบ่งปันในสังคม

forOldy  อาสาสร้างสุข \'ผู้สูงวัย\' thaihealth

อย่างไรก็ตาม อรนุช บอกว่า ปัจจุบัน ความต้องการยังมีมากกว่าจำนวนของที่บริจาคเข้ามา โดยเฉพาะเตียง เครื่องผลิตออกซิเจน และรถเข็น ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการ  “จุดคานงัดหนึ่งของเรา ก็คือ การใช้กลไกสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนรู้จักและเข้าถึงเรามากขึ้น อยากให้คนที่มีอุปกรณ์ที่เหลือใช้และอยากบริจาค ได้คิดถึงเรา เพราะตอนนี้ยังมีคนที่ต้องการใช้มากกว่า คนให้”

ปัจจุบัน นอกจากร้านคุณตาคุณยายแล้ว ForOldy ยังต่อยอดสู่ศูนย์เพลินวัย เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกเดือน เช่น โยคะสำหรับผู้สูงอายุ, นิมนต์พระมาสอนธรรมะ โดยเป้าหมายต่อไป ที่วางไว้ คือ อยากพัฒนาที่นี่ให้เป็น Day Center สำหรับผู้สูงอายุในอนาคต  นอกจากนี้ ยังมองไปถึงการจัดโครงการ Oldy Wisdom ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญา ของผู้สูงอายุแก่สังคม, OldyNursing  คอร์สสอนการดูแลผู้สูงอายุอย่างมืออาชีพ, OldyTrip ทริปท่องเที่ยวเพื่อผู้สูงอายุและครอบครัว ฯลฯ นั่นคือภาพที่กิจการเพื่อสังคมอย่าง ForOldy อยากจะก้าวไปให้ถึง โดยมีรอยยิ้ม ความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายที่ปลายทาง

เครดิตข้อมูล :>> http://bit.ly/2koCVH2

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *